สำหรับการสวดมนต์ในวันขึ้นปีใหม่ปีนั้นถือเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งในอดีตตามโบราณราชประเพณีสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เคยประกอบพิธีสวดมนต์ปีใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย โดยคืนก่อนสิ้นปีพระสงฆ์และประชาชน จะร่วมกันสวดมนต์บทมหาสมัยสูตร จากนั้นเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนก็จะเจริญพระพุทธมนต์บทชัยมงคลคาถา ต่อมาทางราชการกำหนดวันปีใหม่ขึ้นใหม่โดยใช้ตามหลักสากลนิยมคือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี การเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตรก็เริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทย
ปัจจุบันการสวดมนต์ในวันขึ้นปีใหม่กลับมาได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง ดังจะเห็นได้ว่าจากการจัดงานสวดมนต์ข้ามปี ที่ผ่านมา มีหน่วยงานหลายแห่งร่วมจัดงานขึ้น ทั้งในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, มหาเถรสมาคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ตลอดจนวัดวาอารามต่างๆ ก็ได้ร่วมจัดงานสวดมนต์ข้ามปีหลายแห่งทั้งในส่วนกลางคือกรุงเทพมหานคร และตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสวดมนต์กันเป็นจำนวนมาก
การสวดมนต์ในวันขึ้นปีใหม่ หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่าสวดมนต์ข้ามปี นั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามและควรปลูกฝังให้กับลูกหลานยึดถือปฏิบัติสืบต่อไป เพราะการสวดมนต์ถือว่าเป็นการเจริญสติอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้จิตเกิดสมาธิ เป็นการเข้าถึงหลักธรรม ทำให้จิตแช่มชื่นสงบและเป็นสุข ในโอกาสวันปีใหม่ที่จะมาถึงอีกไม่ช้านี้ เราลองเปลี่ยนค่านิยมการฉลองปีใหม่กันเสียใหม่ดีไหม จากที่เคยเที่ยวเตร่เฮฮาตามสถานบันเทิง ลองหันมาเข้าวัดสวดมนต์แทนกันจะดีกว่า เพราะนอกจากจะประหยัดเงิน ช่วยลดอุบัติเหตุและอันตรายที่จะเกิดขึ้นแล้วยังเป็นการทำความดีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อีกด้วย
อานิสงส์ของการสวดมนต์ข้ามปี
ท่านพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ได้ให้ข้อคิดหลักธรรมเกี่ยวกับอานิสงส์ หรือผลที่จะได้รับจากการสวดมนต์ข้ามปี ไว้ดังนี้
1.ลดความเสี่ยงจากอบายมุข อุบัติเหตุและความชั่วร้าย
2.เป็นการทำบุญใหญ่ให้กับชีวิต ทั้งทางกาย ทางจิตและทางปัญญา
3.เป็นการส่งท้ายด้วยธรรมะ และต้อนรับด้วยศีล
4.เป็นการสร้างบรรยากาศรู้เช่นเห็นจริงในสัจธรรม
5.เริ่มต้นชีวิตด้วยสิ่งที่เป็นสิริมงคลอันจะส่งผลให้ได้พบสิ่งที่เป็นมงคลตลอดทั้งปี