ประวัติความเป็นมาของการเจริญพระพุทธมนต์
ประวัติความเป็นมาของการเจริญพระพุทธมนต์
โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ
การเจริญพระพุทธมนต์มีจุดกำเนิดมาจากการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ เพื่อทรงจำและสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์โดยตรง โดยพระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาลได้นำพระสูตรต่างๆ มาสวดสาธยายในรูปแบบการบริกรรมภาวนาให้เกิดเป็นสมาธิ จึงเรียกว่า พระพุทธมนต์
เมื่อบริกรรมภาวนาพระพุทธพจน์จนจิตเป็นสมาธิ ย่อมเกิดพลานุภาพในด้านต่างๆ เช่น ทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามขึ้นในชีวิต จิตใจไม่ดีก็จะดี ชีวิตไม่ดีก็จะดี สุขภาพไม่ไก้ก็จะดี หน้าที่การงานไม่ดีก็จะดี ครอบครัวไม่ดีก็จะดี ในขณะเดียวกันก็ต้านทานสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต
ต่อมาจึงมีผู้นิยมนำพระพุทธพจน์มาใช้เป็นพระพุทธมนต์เพื่อต้านทานสิ่งไม่ดีทั้งหลาย พระพุทธมนต์จึงถูกเรียกว่า “พระปริตร” แปลว่า เครื่องต้านทาน ป้องกัน รักษา
ต่อมาภายหลัง พระพุทธมนต์ที่มีอานุภาพในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน รักษา จึงถูกเรียกว่า พระปริตร ตามไปด้วย
การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ในครั้งพุทธกาลนั้น ใช้วิธีเรียนแบบบอกปากต่อปาก แล้วท่องจำสวดสาธยายต่อๆ กันมาเรียกว่า มุขปาฐะ วิธีเล่าเรียนพระพุทธพจน์ที่เรียกว่ามุขปาฐะนี้ พระสาวกใช้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ โดยพระสงฆ์ในสมัยนั้นแบ่งหน้าที่กันท่องเป็นหมู่คณะตามความถนัด เช่น
๏ พระอุบาลีเถระทำหน้าที่ทรงจำพระวินัย ภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระวินัยก็เรียนพระวินัยจากพระอุบาลีเถระ
๏ พระอานนท์เถระทรงจำพระสูตร ภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระสูตรก็เรียนพระสูตรต่อจากพระอานนท์เถระ
๏ พระสารีบุตรเถระทรง จำพระอภิธรรม ภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระอภิธรรมก็เรียนพระอภิธรรมต่อจากพระสารีบุตรเถระ
แล้วก็ร่วมกันสวด สาธยายเป็นหมู่คณะๆ ตามโอกาส แม้ที่พักอาศัยก็จะอยู่รวมกันเป็นคณะ เพื่อสะดวกต่อการร่วมกันสวดสาธยายพระพุทธพจน์ที่ตนถนัด
การสืบต่อพระพุทธพจน์ด้วยวิธีท่องจำยังปรากฏว่า ครั้งหนึ่ง พระเถระรูปหนึ่งชื่อว่าโสณกุฏิกัณณะเดินทางจากชนบทห่างไกลมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงรับสั่งให้พระเถระพักอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกับพระองค์ พอตกดึก จึงให้ท่านสวดพระสูตรให้สดับ พระเถระสวดพระสูตรให้พระพุทธองค์ สดับถึง ๑๖ สูตรก็พอดีสว่าง และเมื่อพระพุทธองค์ประชวรก็ได้ให้ พระ มหาจุนทะสวดโพชฌงคสูตรให้สดับ จนหายจากอาการประชวร
นอกจากนั้น ในพระวินัยปิฎกยังระบุว่า ในอาวาสที่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่มากรูป จะต้องให้มีพระภิกษุสวดปาติโมกข์ คือ การสวดทบทวนศีล ๒๒๗ ข้อของพระสงฆ์ได้หนึ่งรูปเป็นอย่างน้อย หากไม่มีจะต้องขวนขวายส่งไปเรียนยังสำนักที่มีผู้สวดได้ หาก ไม่ทำเช่นนั้นก็จะปรับอาบัติแก่เจ้าอาวาสเพราะโทษที่ไม่ใส่ใจจะให้มี ผู้ทรงจำพระปาติโมกข์ แสดงให้เห็นว่าสมัยพุทธกาลนั้นได้มีการนำพระพุทธพจน์มาท่องบ่นสาธยายกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว
ลำดับพระเถระที่สืบต่อพระพุทธพจน์
ในสมันตปาสาทิกา คัมภีร์อรรถกถาอธิบายพระวินัยปิฎกได้ แสดงลำดับพระเถระที่สืบต่อพระวินัยตั้งแต่พระอุบาลีเถระจนถึง สังคายนาครั้งที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีลำดับพระเถระ ๕ ท่าน ดังนี้
๏ พระอุบาลีเถระ ทรงจำไว้เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า
๏ พระทาสกะ ทรงจำต่อจากพระอุบาลีเถระ
๏ พระโสณกะ ทรงจำต่อจากพระทาสกะ
๏ พระสิคควะ ทรงจำต่อจากพระโสณกะ
๏ พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ทรงจำต่อจากพระสิคควะ
นอกจากนั้น เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระสารีบุตร เถระได้มีการริเริ่มจัดหมวดหมู่พระพุทธพจน์ไว้เป็นแบบอย่างแล้ว เพื่อสะดวกแก่การทรงจำ จนเกิดพระสูตรๆ หนึ่งชื่อสังคีติสูตร แปลว่า พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือพระสูตรว่าด้วยการจัดระเบียบ คำสอนนั่นเอง
ภายหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๓ เดือน ได้มีการจัดระเบียบแบบแผนการทรงจำคำสอนใหม่อย่างเป็นระบบ เรียกว่า การสังคายนา โดยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน และได้มีมติจะรักษาพระพุทธพจน์ที่จัดระเบียบไว้แล้วด้วยวิธีมุขปาฐะ หรือวิธีท่องจำ ภายหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานประมาณ ๔๕๐ ปี จึงได้มีการบันทึกพระพุทธพจน์เป็นตัวหนังสือที่ลังกาทวีป สาเหตุมาจากบ้านเมืองมีความผันผวนอันเกิดจากภาวะสงครามจึงยากแก่การทรงจำพระพุทธพจน์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ http://www.onab.go.th