โดย ‘การบำเพ็ญทานของพระเวสสันดร ทรงมีอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ในการกระทำทาน แม้บางครั้งจะพบอุปสรรคมากมาย พระองค์ก็ไม่ละความมุ่งมั่นด้วยทรงมุ่งประโยชน์สูงสุดคือ พระโพธิญาณอันจะเป็นเครื่องนำพาสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ โดยทานบารมีแห่งพระเวสสันดรนั้น เป็นการแสดงธรรมอันยิ่งใหญ่ของการให้ และการลด ละ ตัวตน เพื่อนำชีวิตไปสู่ความสงบอย่างแท้จริง’
สำหรับ ละครเวทีในปีนี้ ครูนาย-นายมานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ยังคงมาเป็นผู้กำกับคนเก่งอีกเช่นเคย หลังจากที่ละครเทวี 'พุทธะ ราชะ เดอะมิวสิคัล' ในคืนสวดมนต์ข้ามปีครั้งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ครูนาย เล่าว่า ความท้าทายของการสร้างละครเวทีจาก ‘พระมหาเวสสันดรชาดก’ คือการที่จะต้องคงไว้ซึ่งบทละครแต่ต้องผสมสานกับความร่วมสมัยและไม่ละทิ้งความเชยที่สวยงาม ซึ่งการใช้เทคนิคตระการตามากมายอาจจะไปแย่งความสนใจของ 'สาร' ที่ต้องการจะส่งออกมาจากตัวละครได้
ฉะนั้นแล้ว ความมหัศจรรย์ ของละครเวทีเรื่องนี้จึงต้องยกให้ ‘เนื้อเพลง’ ที่ทั้งลึกซึ้งและเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ความหมายของสารที่จะส่งออกมานั้นทรงคุณค่าและสามารถดึงศักยภาพของนักแสดงออกมาให้มากที่สุด และไม่ได้ดัดแปลงบทละครให้ร่วมสมัยแต่อย่างใด แต่ความร่วมสมัยจะอยู่ที่เครื่องแต่งกาย หน้า ผม ของนักแสดง และอุปกรณ์ประกอบฉาก
“ต้องบอกว่า เพียงแค่เรานำพาทุกคนให้เข้าใจและเข้าถึง ‘สาร’ ของพระเวสสันดรให้ได้อย่างลึกซึ้ง เท่านี้ก็เป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนทุกคนอย่างมหาศาลแล้ว ซึ่งอาจจะต้องบอกว่าหลายคนเองก็ยังไม่เข้าใจและเข้าถึงคำว่า ‘ให้’ อย่างแท้จริง แต่ละครเทวีเรื่องนี้จะชี้ให้เห็นว่า การ ‘ให้’ เพื่อเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ การให้เพื่อเสียสละ เป็นการ 'ให้' เพื่อก่อเกิดสิ่งที่ดี ซึ่งหากน้อมนำมาปฏิบัติเช่นนี้ได้ ย่อมไม่เกิดปัญหาตามมาแน่นอน” ครูนาย บอกอย่างภาคภูมิใจ
ครูนาย เล่าต่อว่า ความสนุก จะอยู่ที่ฉากการแสดงของบทละครเมื่อดำเนินมาถึงช่วงเวลาที่พระเวสสันดรต้องตัดสินใจ ‘ให้’ ซึ่งตอนนั้นจะมีการขับร้องเพลงโต้ตอบกันผ่านตัวละครถึง 7 คน พร้อมๆ กับเสียงประสานจากนักร้องคอรัส 21 คนบนเวที รวมทั้งเสียงดนตรีสุดอลังการจากวง Percussion Emsemble ม.รังสิต, Zenith Percussion Emsemble ม.รังสิต, Percussion Emsemble ม.ศิลปากร และคณะนักร้องประสานเสียง East Wind Chorus ม.อีสเทิร์นเอเชีย ปลุกเร้าอารมณ์ของผู้ชมให้หยุดอยู่กับห้วงสำคัญของละครในขณะนั้น เพื่อเพิ่มอรรถรสและประสบการณ์ใหม่ของการชมละครเวที เชื่อว่าจะต้องเป็นที่ตราตรึงใจของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการฟังเพลงและชมละครเวที
ท่ามกลางบรรยากาศเฉลิมฉลองในคืนข้ามปี หากเปลี่ยนจากเสียงเพลงที่ดังลั่นหู ผู้คนจอแจ กลิ่นอบายมุขคละคลุ้ง มาเป็นร่วมกันเปล่งเสียงสวดมนต์ให้ดังก้องในหัวใจ ควบคู่ไปกับการชมละครเวทีพุทธประวัติเพื่อน้อมนำหลักธรรมมาปฏิบัติในชีวิต และตั้งปณิธานที่จะทำดีตลอดปี เป็นคนดีตลอดไป คงจักเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอย่างหาที่เปรียบมิได้...
ฉะนั้น พบกันที่งาน ‘สวดมนต์ข้ามปี 2556 -2557’ ในคืนวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ณ ท้องสนามหลวง
ที่มา : thaihealth.or.th